ในปัจจุบันที่กฎหมายการปลูกกัญชาได้รับการอนุมัติให้ถูกกฎหมายในประเทศไทย ธุรกิจการปลูกกัญชาจึงเริ่มได้รับความนิยมจากทั้งนักปลูกรายย่อยและระดับนายทุนที่พร้อมลงเงินเพื่อสร้างฟาร์มของตนเอง เนื่องจากธุรกิจนี้ยังเป็นธุรกิจใหม่ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่าแต่กลับกันความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะได้รับก็มากตามไปด้วย ทั้งในเรื่องกฎหมายที่ยังไม่แน่นอน ราคาผลผลิต และอุปสรรค์ในการปลูกต่างๆที่ต้องเจอ ทีมงาน smily.fun เรามีประสบการณ์ในการเซ็ตอัพและทำฟาร์มในระบบอุตสาหกรรม จะมาแนะนำผู้ที่ต้องการทำฟาร์มกัญชา&กัญชงระบบ Indoor ในสเกลใหญ่ว่าอะไรบ้างที่เราต้องมีและอะไรบ้างที่ควรระวังเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นและได้ผลผลิตตอบการลงทุนอย่างคุ้มค่า
____________

“สิ่งที่ต้องระวังเมื่อทำฟาร์มสเกลใหญ่”
1.) ความเสี่ยงที่จะมีปัญหากับเพื่อนบ้าน
สำหรับใครที่มีที่กว้างขวางสร้างอาคารแยกไม่ติดกับใครก็คงไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ใครที่ปลูกในพื้นที่ที่เป็นชุมชนหรือมีคนพักอาศัยอาจจะทำให้มีปัญหากับเพื่อนบ้านได้เนื่องจากกลิ่นของต้นกัญชาในระยะออกดอก ใครที่เคยปลูกจะนึกออกว่าขนาดต้นกัญชาต้นเดียวบางทีกลิ่นยังลอยไปไกลหลายร้อยเมตรลองนึกถึงต้นกัญชา 100 ต้นอยู่ในห้องเดียว กลิ่นจะแรงมากขนาดไหน ไหนจะเรื่องเสียงรบกวนจากพัดลมโบล์วเวอที่เสียงดังตลอด24ชั่วโมง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องคำนึงถึง ถ้ามีปัญหากับเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนอาจจะมีปัญหากฎหมายตามมาทีหลังได้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้อาจจะต้องไปเจรจากับเพื่อนบ้านหรืออาจจะต้องลงทุนระบบกำจัดกลิ่นเพิ่มเติม อาจทำให้ต้องเสียต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น
2.) ความสะอาด
เราพูดถึงการปลูกในสถานที่ปิด (indoor) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ทำให้การดูแลความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเราอยู่กับน้ำและปุ๋ยซึ่งเป็นสิ่งที่เชื้อโรคและเชื้อราชอบมากอยู่แล้ว ถ้าดูแลความสะอาดได้ไม่ดีพอมีเชื้อโรคไปติดต้นกัญชาหรือเกิดเชื้อราขึ้นมันจะแก้ไขได้ยากมากๆ เลวร้ายที่สุดอาจจะต้องตัดต้นทิ้งหรือทิ้งผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ ดังนั้นในฟาร์มจำเป็นต้องมีคนคอยทำความสะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องการการติดเชื้อและเชื้อราเกิดขึ้นให้ห้องปลูก
3.) แมลงศัตรูพืช
ข้อนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ สถานที่ปลูกควรจะเป็นสถานที่ปิดมิดชิด ไม่มีรูหรือร่องใดใดที่แมลงจากภายนอกจะหลุดเข้ามาภายในได้ รวมถึงวัสดุปลูกต่างๆที่ต้องสะอาดปราศจากสิ่งมีชีวิตใดใด รวมถึงมดทั่วไปถ้าเห็นควรกำจัดทั้งหมดก่อนจะเริ่มลงต้นไม้ ความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้ามีแมลงเข้ามาแล้วอาจจะเกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงการตรวจเช็คและกำจัดจะทำได้ค่อนข้างยากในระบบฟาร์ม ซึ่งในเมืองไทยมีแมลงร้ายหลายชนิดที่ทำลายต้นกัญชาและผลผลิตของเราบางชนิดตัวเล็กจนมองแทบไม่เห็น ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆจึงสำคัญมาก
4.) ต้นทุนบานปลาย
จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนที่ศึกษามาไม่ดีพอหรือเตรียมตัวการปลูกได้ไม่ดี ส่วนใหญ่ต้นทุนบานปลายได้เพราะวางแผนผิดพลาดไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่น คำนวนไฟปลูกไม่เพียงพอ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นไม่ได้ตามต้องการ ทำให้ต้องลงทุนเพิ่มและปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆอย่างสุดท้ายงบบานปลายไปจากที่ตั้งไว้ตอนแรกอย่างมาก และถ้างบลงทุนเพิ่มไม่พออาจทำให้ผลผลิตคุณภาพออกมาครึ่งๆกลางๆได้ ดังนั้นการมีที่ปรึกษาและแผนที่ดีสำหรับนักลงทุนมือใหม่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าเราวางแผนทุกอย่างและปฎิบัติอย่างถูกต้องจะสามารถควบคุมงบประมาณได้และไม่มีปัญหาปวดหัวตามมาภายหลัง
5.) ประสบการณ์ Grower สำคัญมาก
นักลงทุนฟาร์มกัญชาส่วนใหญ่จะเริ่มโดยการจ้างนักปลูก (Grower) มาเป็นคนดูแลต้นกัญชาซึ่งนักปลูกในปัจจุบันที่มีชื่อเสียงมีมากมายแล้วแต่คอนเน็คชั่นของแต่ละคนจะหาได้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่ว่าจะลงทุนไปเท่าไรแต่สิ่งที่จะเห็นผลมากที่สุดคือประสบการณ์ของนักปลูก ดาบที่ทื่อไร้คมแต่อยู่ในมือยอดฝีมือก็สามารถเป็นสุดยอดอาวุธได้ นักปลูกขั้นเทพไม่จำเป็น้ต้องมีอุปกรณ์ชั้นยอดก็สร้างสุดยอดผลผลิตให้คุณได้ ประสบการณ์และความมืออาชีพของ Grower จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้ข้ออื่น หลายฟาร์มที่พลาดอุตส่าซื้ออุปกรณ์ดีๆแต่จ้างนักปลูกที่ประสบการณ์น้อยสุดท้ายผลผลิตออกมาไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ระยะเวลาคืนทุนนานขึ้นไปอีก
6.) ค่าใช้จ่ายรายเดือน
การลงทุนในธุรกิจฟาร์มกัญชานั้นมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ค่อนข้างสูง ผู้ลงทุนควรมีเงินสำรองประมาณ 20% ของเงินลงทุนทั้งหมดเพื่อประคองค่าใช้จ่ายไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตและขายทำกำไร รวมถึงเผื่อไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อแก้ไข โดยค่าใช้จ่ายในการทำฟาร์มหลักๆจะมี ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างปลูกและค่าเช่าสถานที่่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือน
____________

“สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนเริ่มปลูก“
1.) วางแผน
การปลูกกัญชาแบบฟาร์มก็เหมือนการทำธุรกิจอื่นๆที่จะขาดการวางแผนที่ดีไปไม่ได้ ผู้ลงทุนควรมีความรู้ในระดับนึงเพื่อวางแผนการปลูกของฟาร์มตนเอง จะใช้ระบบแบบไหน ใช้อุปกรณ์ลงทุนเท่าไร มีตลาดไหนรองรับ หรือถ้าไม่มีประสบการณ์อาจจะจ้างที่ปรึกษามาวางแผนให้แทนได้แต่ต้องมั่นใจว่าเขามีประสบการณ์ทางด้านนี้จริงๆ การวางแผนและมีที่ปรึกษาที่ดีจะทำให้เราควบคุมต้นทุนได้และไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างช่วงปลูกเป็นการป้องกันความเสี่ยงอย่างนึงสำหรับธุรกิจนี้
2.) สถานที่ปลูก
ควรเลือกสถานที่ที่ห่างจากชุมชนหรือหมู่บ้านเพื่อป้องกันปัญหา อย่าลืมจดทะเบียนขออนุญาติให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนเริ่มปลูก หากเลือกได้ห้องปลูกควรไม่ควรโดนแดดส่องโดยตรงและมีอุณหภูมิไม่สูงเพื่อประหยัดค่าไฟให้มากที่สุด ภายในจำเป็นต้องหุ้มฉนวนเพื่อกันอุณหภูมิภายในและภายนอก ผนังและฝ้าห้องปลูกควรสะอาดไม่มีสีหลุดร่อนหรือรอยแตกที่พื้นและกำแพง หากมีส่วนไหนเสียหายให้ดำเนินการซ่อมให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มปลูก ประตูหน้าต่างต้องซีลไม่ให้มีช่องว่างทั้งหมดเพื่อป้องกันแมลงจากภายนอก สถานที่ปลูกกัญชาไม่จำเป็นต้องหรูหราหรือดูดีมากนักแต่ให้เน้นที่ความสะอาดเป็นหลัก
3.) ระบบไฟฟ้า
หลายฟาร์มที่ไม่วางแผนในตอนแรกจะมาตกม้าตายกันเรื่องระบบไฟฟ้าที่จะทำให้งบบานปลายและต้องรื้อระบบแก้ไขหลายเรื่อง เนื่องจากการปลูกกัญชาในสเกลใหญ่นั้นใช้ปริมาณไฟฟ้ามหาศาล แรงดันไฟที่ 220v อาจจะไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงระบบทั้งหมด ดังนั้นการติดตั้งระบบไฟ 3 เฟสเป็นเรื่องที่ขาดไปไม่ได้ เพื่อป้องกันปัญหาในภายหลังและยังรองรับการขยายฟาร์มหรือเพิ่มอุปกรณ์ในอนาคตได้ อีกเรื่องที่จำเป็นคือการติดตั้งเบรคเกอร์และสายดินเพื่อแยกระบบไฟเผื่อไว้กรณีที่มีปัญหาเราจะสามารถซ่อมแซมได้โดยไม่ต้องปิดระบบทั้งหมดและช่วยป้องกันความปลอดภัยกรณีไฟรั่วหรือไฟกระชาก ระบบไฟฟ้านับเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่ค่อนข้างสูงและควรวางแผนและคำนวนให้รอบคอบก่อนเริ่มติดตั้งระบบ
4.) ระบบน้ำสะอาด
น้ำสะอาดเป็นอีกอย่างที่ขาดไม่ได้สำหรับฟาร์มกัญชา โดยทั่วไปจะใช้เป็นระบบกรอง RO (ReverseOsmosis) เป็นระบบที่กรองสารแขวนลอยในน้ำออกทั้งหมดทำให้ควบคุมปริมาณปุ๋ยและสารละลายได้ได้ที่สุด ในฟาร์มขนาดใหญ่จะมีการใช้ปริมาณน้ำต่อวันค่อนข้างมากจึงต้องมีเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่และถังเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำในปริมาณมาก แต่การกรองผ่านระบบ RO มีข้อเสียที่มีการทิ้งน้ำไปค่อนข้างเยอะโดยเปล่าประโยชน์จึงควรมีระบบกรองน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่เพื่อความประหยัด
5.) ระบบจ่ายคาร์บอนไดออกไซต์ Co2
ระบบ Co2 หรือคาร์บอนไดออกไซต์เป็นอีกระบบที่จำเป็นสำหรับฟาร์มระบบปิด เนื่องจากฟาร์มระบบปิดจะไม่มีการแลกเปลี่ยนอากาศกับภายนอก ทำให้ปริมาณก๊าซ Co2 ในห้องจะมีปริมาณน้อยกว่าอากาศภายนอก จึงจำเป็นต้องมีระบบเติม Co2 เข้ามาในห้องเวลาเปิดไฟโดยทั่วไปจะใช้แบบถังเหล็กพร้อมเรกกูเรตเตอร์ อีกสิ่งที่ต้องมีก็คือ Sensor วัดปริมาณก๊าซคาร์บอนในห้องปลูก เนื่องจากก๊าซ Co2 ถ้าความเข้มข้นสูงอาจจะเป็นอันตรายกับมนุษย์ได้จึงต้องมีการ Monitor ตลอดเวลา หรืออีกทางก็คือใช้ระบบเปิดปิดอัตโนมัติตามเวลาเปิดไฟก็เป็นอีกทางเลือกที่สะดวกเช่นกัน
6.) เตรียมอุปกรณ์
ข้อนี้จะมีรายละเอียดเยอะที่สุดในบรรดาหัวข้อทั้งหมด เพราะอุปกรณ์ที่เราจะใช้ในฟาร์มนั้นมีเยอะมากเพื่อจำลองสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการปลูกต้นกัญชามากที่สุด เราจะมาย่อยกันทีละข้อเลยว่ามีอะไรบ้าง
6.1 | ไฟปลูก เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆของอุปกรณ์ทั้งหมด ควรเลือกแบรนด์ที่มีคุณภาพและมีปริมาณแสงที่เพียงพอ แนะนำถ้างบถึงให้เลือกรุ่นที่ดีที่สุดเท่าที่จะซื้อได้ เพราะไฟส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้รวมถึงคุณภาพของผลผลิต เป็นอุปกรณ์ที่ลงทุนไปแล้วจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน การเลือกไฟที่มีคุณภาพจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น เช่นบางรุ่นมีระบบตั้งเวลาเปิดปิดอัตโนมัติ หรือสามารถต่อพ่วงกันเป็นระบบเปิดปิดพร้อมกันได้ รวมถึงเรื่องความร้อนที่ปล่อยออกมา หลอดไฟที่มีคุณภาพสูงจะปล่อยความร้อนออกมาน้อยกว่าในจำนวน w ที่เท่ากัน ช่วยประหยัดไฟทางอ้อม รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานที่มากกว่าอีกด้วย (ของแถมอีกอย่างไฟปลูกยี่ห้อดีคุณภาพดีราคาขายต่อจะตกน้อยกว่ารุ่นทั่วไป)
6.2 | โต๊ะปลูก ข้อนี้หลายคนอาจมองว่าไม่จำเป็นมากนัก อาจจะใช้วิธีวางพื้นหรือ DIY โต๊ะเอาเอง แต่จากประสบการณ์ของเราการมีโต๊ะปลูกนั้นช่วยให้ทำงานได้สะดวกอย่างมากในกรณีปลูกในจำนวนเยอะๆควรต้องมี แนะนำรุ่นที่มีล้อเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องยกทีละกระถาง โต๊ะปลูกนั้นช่วยให้ Grower ทำงานได้ง่ายเพราะต้นกัญชาจะอยู่ในระดับสายตาพอดี เวลาทริมหรือตัดใบที่ใช้เวลานานไม่ต้องก้มๆเงยให้ปวดหลังและข้อที่ดีที่สุดคือช่วยให้เราจัดการน้ำทิ้งได้ง่ายไม่หกเลอะเทอะพื้นเป็นการช่วยเซฟเรื่องความสะอาดอีกทางนึง
6.3 | แอร์ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับการปลูก indoor การเลือกปริมาณ BTU แอร์จะสัมพันธุ์กับขนาดห้องรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในห้อง อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับต้นกัญชาสายพันธุ์ Indica ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 18-22 องศาเซลเซียสไม่เกินนี้ กรณีนึงที่เราเคยเจอในฟาร์มนึงคือไม่ได้คำนวนปริมาณ BTU ในช่วงแรกที่เปิดไฟน้อยคุมอุณหภูมิได้สบาย แต่ในช่วงหลังทำดอกที่เปิดทุกอย่าง 100% อุณหภูมิภายในฟาร์มพุ่งไปถึง 28 องศา สุดท้ายผลผลิตออกมาคุณภาพไม่ได้ทั้งที่ขนาดต้นใหญ่มาก จะเห็นว่าอุณหภูมิมีความสำคัญในช่วงทำดอกและส่งผลถึงคุณภาพผลผลิตอย่างมาก ดังนั้นการคำนวน BTU ของเครื่องปรับอากาศให้เหลือดีกว่าขาดเสมอ
6.4 | เครื่องพ่นหมอก Ultrasonic เครื่องพ่นหมอกเป็นอีกอุปกรณ์ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมในฟาร์มให้เหมาะสมกับที่พืชต้องการ ในปัจจุบันนิยมใช้แบบ Ultrasonic เนื่องจากให้กำลังสูงและมีความละเอียดของละอองมาก โดยทั่วไปจะใช้ในช่วงต้นอ่อนและช่วงทำใบเท่านั้น เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องมีในระบบ Indoor เนื่องจากต้นพืชในช่วงแรกนั้นต้องการความชื้นที่สูงมากกว่า 80% ซึ่งถ้าเราปลูกในอากาศปกติอาจไม่จำเป็นต้องมี แต่การปลูกในห้องแอร์นั้นความชื้นจะต่ำกว่าปกติ (ประมาณ 20-40%) ซึ่งเป็นความชื้นที่น้อยเกินไปสำหรับต้นไม้ทำให้เจริญเติบโตได้ช้า จึงต้องมีการใช้เครื่องพ่นหมอกพ่นละอองน้ำเพื่อรักษาความชื้นในห้องให้เหมาะสมอยู่เสมอเพื่อให้ต้นกัญชาเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด
6.5 | วัสดุปลูกและปุ๋ย ข้อนี้แล้วแต่ระบบและความถนัดของแต่ละคนว่าจะใช้วัสดุปลูกแบบไหนใช้ปุ๋ยยี่ห้อไหน ควรเลือกยี่ห้อที่ไว้ใจได้มีหน้าร้านและโรงงานผลิตที่ชัดเจนเผื่อเวลามีปัญหา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีมากมายหลายแบรนด์ให้เลือก ให้ดูรีวิวและบริการหลังการขายให้ดีเพราะมีหลายเจ้าที่ขายแล้วไม่แนะนำลูกค้าทำให้ลำบากในการใช้งาน เป็นอีกข้อทีสำคัญและยังหาคำตอบกับสิ่งที่ดีที่สุดได้ยาก ถ้าไม่คิดอะไรมากก็ยี่ห้อต่างประเทศไปเลยเพราะมีผลวิจัยต่างๆนาๆรวมถึงรีวิวมากมาย แต่แพงกว่าไม่ใช่ดีกว่าเสมอไปนะ
6.6 | เครื่องลดความชื้น เป็นอีกอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีสำหรับระบบฟาร์มแบบปิด ใช้ในช่วงทำดอกที่ต้นไม้ไม่ต้องการความชื้นที่มากนัก เพราะความชื้นที่มากในช่วงออกดอกจะทำให้เกิดเชื้อราในช่อดอกได้ การลดความชื้นจึงลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดเชื้อราและความชื้นในช่อดอก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยทุกฟาร์มควรมีไว้เพื่อคุณภาพที่ดีที่สุดของผลผลิต
6.7 | อุปกรณ์ Flow อากาศ โดยทั่วไปหากฟาร์มไม่ได้ใหญ่มากนักจะใช้เป็นพัดลมทั่วไปหรือพัดลมอุตสาหกรรมในการโฟลวอากาศในห้องปลูกเพื่อให้อากาศในห้องมีการหมุนเวียน พัดพาความชื้นไปทั่วห้อง ทำให้ต้นได้รับอากาศบริสุทธิ์เท่าๆกัน
6.8 | อุปกรณ์ใช้ทั่วไปในฟาร์ม เป็นหมวดหมู่ของอุปกรณ์จิปาถะที่ใช้ดูแลต้นไม้และอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น กรรไกรตัดกิ่ง ถังน้ำ ฟอกกี้ สายยาง หรือแม้กระทั่งเก้าอี้สำหรับ Grower อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเตรียมพร้อมก่อนเริ่มปลูก จึงจำเป็นต้องมี Checklist เพื่อทบทวนว่าสิ่งไหนที่จำเป็นแต่เรายังไม่มีเพื่อเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนเริ่มปลูกจริง
7.) ทดสอบระบบก่อนเริ่มปลูกจริง
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วให้เตรียมอุปกรณ์และจัดวางทั้งหมดเสมือนตอนปลูกจริงโดยยังไม่ต้องลงเมล็ด ให้ทดสอบเปิดทุกอย่างให้เหมือนช่วงเริ่มปลูก/ช่วงทำใบ/ช่วงทำดอก เป็นเวลา 1 อาทิตย์เพื่อจำลองดูว่าแต่ละช่วงการปลูกจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น หากมีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงนี้เราจะแก้ไขปัญหาได้ทันเมื่อทดสอบทุกอย่างพร้อมแล้วไม่มีปัญหาเกิดขึ้นก็เริ่มปลูกจริงได้เลย
____________

“สรุป”
จากที่อ่านมาด้านบนจะเห็นว่าการทำฟาร์มกัญชานั้นค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ใช้ต้นทุนสูง อีกทั้งยังใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะได้ผลผลิตและขายทำกำไร ดังนั้นผู้ลงทุนควรต้องมีความรู้และความเข้าใจทั้งปัญหาและปัจจัยต่างๆของการปลูกกัญชา เพื่อให้การปลูกเป็นไปได้อย่างราบรื่นและไม่เกิดปัญหาใดใด สิ่งที่ควรคำนึงถึงเลยคือเรื่องความสะอาดสำคัญกว่าอะไรทั้งหมดสำหรับการปลูกกัญชาให้มีคุณภาพ เราคาดหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อยากเริ่มต้นทำฟาร์มกัญชาทุกท่านนะครับ วันนี้ลากันไปก่อน สวัสดีครับ
________
ช่องทางติดต่อ
อ่านบทความอื่นๆ https://smily.fun/article/
Facebook : www.facebook.com/smilyfun.oficial
Line : @smily.fun
Tel : 0803800662
Youtube : smilyfun official